วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

 แนวคิด “กินเพื่อสุขภาพ” ไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลไปจากสำรับอาหารของคนไทย ยิ่งไปกว่านั้น ภาพลักษณ์
ของ “อาหารไทย” ที่ขจรขจายไปสู่ดินแดนทุกทวีปทั่วโลก โดยขณะนี้มีจำนวนร้าน อาหารไทยเกือบ
20,000 ร้านในต่างแดนนั้น มีพี้นฐานความนิยมมาจากการเป็นอาหารบำรุงสุขภาพ
     กระนั้น อาหารปกติในชีวิตประจำวันไม่อาจตอบสนองความต้องการมี “สุขภาพดี” ในระดับที่คนไทย
ยุคปัจจุบันคาดหวังได้
    ทุกวันนี้ คนไทยนับล้านหวังพึ่งอาหารอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อผลในการบำรุงสุขภาพ เรียกรวมๆ ได้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร
เพื่อสุขภาพ ที่หมายความรวมได้ว่าเป็นสารอาหารในปริมาณเข้มข้นอันมีความสำคัญ และจำเป็นต่อสุขภาพร่างกาย
ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และรวมถึงสารอาหาร พวกช่วยย่อยเอนไซม์และกากใย
โดยผลิตขึ้นในรูปผง เกล็ดเม็ด แคปซูล และของเหลว เพื่อประโยชน์ในการรับประทานเพิ่มเติม ป้องกันหรือบำบัด
ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่สกัดหรือสังเคราะห์จากผลิตภัณฑ์ ทั้งพืชและสัตว์ในธรรมชาติ โดยที่มีการพิสูจน์
ทดลองให้ผู้บริโภค เชื่อได้ว่าจะไม่ส่งผลข้างเคียงร้ายแรงต่อร่างกาย สามารถบริโภคได้บ่อยครั้งกว่ายา
   อาหารประเภทนี้เป็นที่นิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลในปี 2551 มูลค่าตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพในบ้านเรา
จะมีมูลค่าถึง 8,000 ล้านบาท ยังไม่รวมกับสินค้าประเภทเครื่องออกกำลังกายอีก 2,000 ล้านบาท ตามที่มีข้อมูล
อ้างอิงได้ว่าในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น อาหารเพื่อสุขภาพประสบความสำเร็จ อย่างต่อเนื่องและ
ยังจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
   ประเภทของอาหารเพื่อสุขภาพที่คนไทยนิยมกันมากก็คือ เครื่องดื่ม โดยที่ในแต่ละปีได้มีการแข่งขันกันมากขึ้น เห็นได้จากความหลากหลายของทั้งประเภทเครื่องดื่ม อาหารหรือขนมขบเคี้ยว เพราะนอกจากเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ
ที่สร้างจุดขายด้วยการเติมสารที่ให้ประโยชน์นานาชนิดลงไปแล้ว ยังมีอาหารจานด่วนอย่างไก่อบที่เน้นเครื่องเทศ สมุนไพรไทย และแม้กระทั่งหมากฝรั่ง ก็ยังมีการเติมสารอาหารบางชนิดลงไปด้วย
   ทุกวันนี้ บนฉลาก ข้างกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดต่างๆ จึงเต็มไปด้วยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกซื้ออาหาร
เพื่อสุขภาพ ผ่านศัพท์แสงที่เป็นชื่อของสารอาหารนานาชนิด ตัวอย่างเช่น กากใย เลซิติน คอลลาเจน เกสรผึ้ง สาหร่ายเกลียวทอง คลอโรฟิล จมูกข้าวสาลี บริวเวอร์ยีสต์ ฯลฯ
   ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคต่ออาหารสร้างสุขภาพ โดย กนิษฐา หมู่งูเหลือม และ วัฒนธรรมบริโภค
นิยมกับอาหารเพื่อสุขภาพในบริบทสังคมเมือง
 โดย ธนภูมิ อติเวทิน เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ให้ความสนใจ
ต่อที่มาพัฒนาการ และเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้คนไทยยุคปัจจุบันหันมานิยมและพึ่งพาอาหารสุขภาพมาถึงเพียงนี้
   ผู้วิจัยทั้งสองวิเคราะห์ตรงกันว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันปรับมุมมองใหม่ว่าการดูแลสุขภาพเป็นการลดความสี่ยง หรือช่วยป้องกันการเกิดโรคได้มากกว่า เพราะการดูแลสุขภาพมิใช่เพียงแค่การไม่เป็นโรค แต่คือการทำให้สุขภาพกายด
ีและสุขภาพใจสมบูรณ์ ด้วยการออกกำลังกาย งดเหล้าบุหรี่ มีเวลาพักผ่อน รวมทั้งการเลือกกินอาหารที่ดี และเมื่อ
ผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องอาหารมากขึ้น จึงส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  งานของกนิษฐาซึ่งเรียกอาหารกลุ่มนี้ว่า “อาหารสร้างสุขภาพ” ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจกลุ่มชายหญิง
ผู้ใส่ใจในสุขภาพวัย 22–49 ปี ที่อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 400 คน พบว่าคนกลุ่มใหญ่มีสถานภาพโสด และจบการศึกษา
ระดับปริญญาตรีมากที่สุด
   ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ระบุว่าตนรู้จักอาหารสุขภาพลับมีความรู้อย่างผิวเผิน อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็รู้สึกดีเมื่อได้ดูแล
สุขภาพตนเองด้วยการกินอาหารสร้างสุขภาพ และเห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาในวงการอาหารนี้ รวมทั้งเห็นว่าอาหารสร้างสุขภาพช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ กลุ่มเป้าหมายนี้ซื้อเครื่องดื่มประเภทนมถั่วเหลือง
แคลเซียมสูงมาบริโภคมากกว่าและบ่อยครั้งกว่านมชนิดอื่น ส่วนเครื่องดื่มประเภทอื่นที่เลือกรองลงไปคือ น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น ชาเขียวหรือเครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมใยอาหาร
   ส่วนงานของธนภูมิ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มผู้ใหญ่ชายหญิง วัย 41–55 ปีจำนวน ๒๔ รายที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เขาแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะอาชีพ คือ ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน และกลุ่มอาชีพอิสระ
   ปัญหาเดียวกันที่คนวัยนี้ต้องเผชิญก็คือ ขาดเวลาพักผ่อนและขาดการออกกำลังกายที่จำเป็น จากสาเหตุคือมีช่วงเวลา
การทำงานที่ยาวนานมากกว่าซึ่งทำให้เกิดความเครียดตามมา คนกลุ่มนี้มีเป้าหมายบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
ทั้งเพื่อ การป้องกันและการรักษาโรค ดังนั้น สำหรับคนในวัยผู้ใหญ่จึงมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสุขภาพ โดยการซื้ออาหาร
เพื่อสุขภาพแม้มีราคาสูง ยอมลงทุนด้านเวลาและความเอาใจใส่ที่ต้องบริโภคอย่างต่อเนื่อง และหากิจกรรมในการเพิ่มศักยภาพร่างกายของตนเอง
   จากการศึกษาของธนภูมิ พบว่าวัฒนธรรมบริโภคนิยมมีอิทธิพลสูงมากต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยการที่คนๆ หนึ่งจะตัดสินใจซื้ออาหารดังกล่าวขึ้นกับ ๒ ปัจจัยคือ ปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะคนใกล้ชิดที่มีส่วน
สร้างแรงจูงใจ กับอีกปัจจัยหนึ่งคือ อิทธิพลของสื่อการโฆษณา
    เป็นเรื่องน่าคิดว่าผู้บริโภคพากันให้ความสนใจต่ออาหารเพื่อสุขภาพที่มีหลักการว่าผลิตหรือสังเคราะห์มาจากธรรมชาติ ซึ่งสื่อนัยถึงความสะอาด บริสุทธิ์ ไม่เป็นอันตราย แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคเองกลับมีวิถีการกินอยู่ที่ห่างไกลจากความเป็น
ธรรมชาติแม้เพียงเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินวิตามินแทนที่จะกินผักผลไม้สด การเลือกใช้ลิฟต์แทนการ
ขึ้นลงบันไดหรือการจัดดอกไม้เทียมใส่ในแจกันแทนดอกไม้สด ทั้งที่ต้องการสร้างความชุ่มชื่นให้แก่จิตใจ เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น